เมื่อข้าราชการเกษียณอายุหรือลาออกจากราชการและเลือกรับบำนาญ จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา ๑๕ เท่าของเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับ (ไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท) โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(๑) อายุต่ำกว่า ๖๕ ปีบริบูรณ์ มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (ยื่นแบบ สรจ.๓ พร้อมขอบำนาญที่ต้นสังกัด)
สูตร = บำนาญ x ๑๕ เท่า (ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท)
(๒) อายุตั้งแต่ ๖๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้อีก หากใช้สิทธิตามข้อ ๑ ไปแล้ว สามารถขอรับเพิ่มส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (ยื่นแบบ สรจ.๓ พร้อมหลักฐาน ที่หน่วยเบิกบำนาญ)
สูตร = บำนาญ x ๑๕ เท่า (หัก ๒๐๐,๐๐๐ บาท)
(๓) อายุตั้งแต่ ๗๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้อีก หากใช้สิทธิตามข้อ ๒ ไปแล้ว สามารถขอรับเพิ่มส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ยื่นแบบ สรจ.๓ พร้อมหลักฐาน ที่หน่วยเบิกบำนาญ)
สูตร = บำนาญ x ๑๕ เท่า (หัก ๔๐๐,๐๐๐ บาท)
ระยะเวลาการขอรับบำเหน็จดำรงชีพ
๑. เมื่อข้าราชการออกจากราชการแล้ว มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ พร้อมการขอรับบำนาญ
๒. ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๖๕ ปีบริบูรณ์ หากไม่ขอรับบำเหน็จดำรงชีพ พร้อมการขอรับบำนาญสามารถยื่นเรื่องขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ตั้งแต่ ๑ ต.ค. ถึง ๓๑ ธ.ค. ของทุกปี
๓. ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุ ๖๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ขอรับบำเหน็จดำรงชีพ เมื่อใดก็ได้ไม่กำหนดระยะเวลา
ผู้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ
๑. ข้าราชการที่ออกจากราชการขอรับบำนาญ และ/หรือ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ
๒. ผู้รับบำนาญปกติ
๓. ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ
๔. ข้าราชการที่ออกจากราชการ หรือผู้รับบำนาญ ที่มีกรณีหรือต้องหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา โดยกรณีหรือคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด จะขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้เมื่อกรณีหรือคดีถึงที่สุด และมีสิทธิรับบำนาญ
ผู้ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพ
๑. ผู้ขอรับบำเหน็จ
๒. ผู้รับบำนาญ และหรือบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพที่ได้แสดงเจตนาขอรับบำเหน็จดำรงชีพไว้แล้ว แต่ได้ถึงแก่ความตายก่อนได้รับ เงินบำเหน็จดำรงชีพ
๓. ข้าราชการที่ออกจากราชการ หรือผู้รับบำนาญที่มีกรณีหรือต้องหา ว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาโดยกรณีหรือคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด