ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔
บำเหน็จ หมายความว่า เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายครั้งเดียว
บำนาญ หมายความว่า เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน
เหตุแห่งบำเหน็จบำนาญปกติ
ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. เหตุทดแทน ให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากประจำการเพราะเลิกหรือ ยุบตำแหน่งหรือซึ่งมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด
๒. เหตุทุพพลภาพ ให้แก่ข้าราชการผู้เจ็บป่วย ทุพพลภาพซึ่งแพทย์ ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการ ในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
๓. เหตุสูงอายุ ลาออกเมื่อมีอายุตัวครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ หรือทางราชการ สั่งให้ออกเมื่อมีอายุ ๖๐ ปี ๖๕ ปี หรือ ๗๐ ปี หรือ กรณีเกษียณอายุ
๔. เหตุรับราชการนาน ให้แก่ข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบ ๒๔ ปี ๖ เดือน
มีสิทธิได้รับบำเหน็จ กรณีมีเวลาราชการตั้งแต่ ๑ ปี แต่ไม่ถึง ๙ ปี ๖ เดือน
มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ กรณีมีเวลาราชการตั้งแต่ ๙ ปี ๖ เดือน
*** กรณีไม่เข้า ๔ เหตุดังกล่าวข้างต้น และมีเวลาราชการ ๙ ปี ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๒๔ ปี ๖ เดือน ให้ได้รับบำเหน็จ ตามมาตรา ๑๗ หรือ พ.ร.บ. กองทุนฯ มาตรา ๔๗ (สมาชิก กบข.) ***
*** สิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญ มีอายุความ ๓ ปี ***
การคำนวณบำเหน็จบำนาญ
ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔
มาตรา ๒๙ เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญให้นับแต่ จำนวนปีเศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็น ๑ ปี
การนับระยะเวลาตามความในวรรคก่อน สำหรับเดือนหรือวัน ให้นับคำนวณตามวิธีการจ่ายเงินเดือน และให้นับ ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี สำหรับจำนวนวัน ถ้ามีรวมกันหลายระยะให้นับ ๓๐ วันเป็นหนึ่งเดือน
บำเหน็จปกติ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
บำนาญปกติ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
๕๐
ตัวอย่าง
เวลาราชการปกติ ๔๒ ปี
เวลาราชการทวีคูณ ๙ ปี ๔ เดือน
รวมเป็นเวลาราชการ ๕๑ ปี
เงินเดือนเดือนสุดท้าย ๔๙,๙๐๐ บาท
วิธีการคำนวณ
การคำนวณบำเหน็จปกติ = ๔๙,๙๐๐ x ๕๑ = ๒,๕๔๔,๙๐๐ บาท
การคำนวณบำนาญปกติ = ๔๙,๙๐๐ x ๕๐ = ๔๙,๙๐๐ บาท
๕๐
การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ
๑. การนับเวลาระหว่างที่รับราชการตามปกติ
(๑) เริ่มนับตั้งแต่วันเข้ารับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนในอัตราสามัญ แต่ไม่ก่อนวันที่มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ จนถึงวันสุดท้ายก่อนออกจากราชการ หรือถึงวันที่ ๓๐ กันยายน กรณีเกษียณอายุ
(๒) ผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการนับให้ตั้งแต่วันขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ
(๓) ข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือน ซึ่งทางราชการสั่งให้ไปทำการใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้นับเวลาระหว่างถูกสั่งให้ไปทำการใด ๆ เป็นเวลาราชการปกติเหมือน เต็มเวลาราชการ
๒. การนับเวลาทวีคูณ
เวลาทวีคูณ คือ เวลาที่กฎหมายให้นับเพิ่มอีก ๑ เท่า ของเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่หรือรับราชการตามปกติ แบ่งเป็น
(๑) เวลาทำหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
(๒) เวลาทวีคูณปฏิบัติหน้าที่ในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก การนับเวลาทวีคูณ ต้องมีเวลาราชการปกติในระหว่างนั้นก่อน จึงจะนับเวลาราชการทวีคูณได้ ถ้าในระยะเวลาเดียวกันมีเวลาทวีคูณหลายประการซ้ำกันให้นับเวลาระหว่างนั้น เป็นทวีคูณแต่ประการเดียว
๓. การตัดเวลาราชการ
(๑) เวลาที่ไม่ได้รับเงินเดือนด้วยเหตุใดๆ เช่น ป่วย ลา ขาด พักราชการ ลาศึกษาต่อโดยไม่ได้รับเงินเดือน ลาติดตามคู่สมรสไปต่างประเทศ ลากิจ เพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ได้รับเงินเดือน ให้ตัดเวลาระหว่างนั้นออก หรือถูกสั่งพักราชการ โดยได้รับเงินเดือนไม่เต็มอัตรา เช่น ได้รับครึ่งหนึ่ง หรือ ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๔ ให้ตัดเวลาราชการออกตามส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
(๒) เวลาระหว่างรับเบี้ยหวัด นับเวลาราชการให้ ๑ ใน ๔
(๓) ผู้มีสิทธิได้นับเวลาราชการเป็นทวีคูณ กรณีประกาศกฎอัยการศึก ถ้าวันใดไม่มาปฏิบัติราชการในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่มีสิทธิได้นับเวลาทวีคูณในวันนั้น
เงินเดือนสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ
“เงินเดือนเดือนสุดท้าย” หมายถึง
* อัตราเงินเดือนก่อนพ้นจากราชการ
* อัตราเงินเดือนที่ได้เลื่อนขั้น เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ
* เงินเดือนเฉลี่ย ๖๐ เดือนสุดท้าย สำหรับการสั่งจ่ายบำนาญให้สมาชิก กบข.
** รวมกับเงินเพิ่มอื่น ๆ ซึ่งได้รับในขณะนั้น (ถ้ามี) เช่น เงินเพิ่ม พ.ค.ว./พ.ส.ร./พ.น.บ./พ.ป.อ./พ.ค.บ./พ.ต.ร./พ.ท.ล./พ.ป.อ.ส. ฯลฯ
หมายเหตุ : เงินเพิ่มบางประเภท เช่น เงินผู้บังคับอากาศยาน (พ.บ.อ.)/ เงินประจำตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ถือว่าเป็นเงินเดือนเดือนสุดท้าย